ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) ของพนักงานฝ่ายการผลิต บริษัท ทีซีแอล ทอมสัน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น)
ของพนักงานฝ่ายการผลิต บริษัท ทีซีแอล ทอมสัน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้แต่ง : อดิเรก เพ็ชร์รื่น และพุทธกาล รัชธร
เอกสาร : วารสารศรีนครินทรวิโรฒวิจัยและพัฒนา (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มกราคม-มิถุนายน 2554
ความเป็นมา/หลักการและเหตุผล
จากการนำไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ในองค์กรต่างๆ ทำให้ได้รับความสนใจที่จะนำไคเซ็นมาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารคุณภาพและการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งบริษัท ทีซีแอล ทอมสันอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องบันทึกและเครื่องเล่นวิดีโอ ดีวีดี หรือชิ้นส่วนต่างๆที่จัดเป็นชุดสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องรับโทรทัศน์โดยมียอดขายเฉลี่ยประมาณ 6.6 พันล้านบาทต่อปีทั้งนี้บริษัทฯ ได้นำหลักการของไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพ
ในการปฏิบัติงาน เพื่อที่จะป้องกันหรือลดความสูญเสียของผลงานหรือชิ้นงานก่อนที่จะส่งต่อให้บุคลากรหรือหน่วยงานอื่นที่จะต้องรับผิดชอบในขั้นตอนต่อไปหากพนักงานทุกคนสามารถผลิตผลงานที่ตรงตามคุณสมบัติที่ลูกค้าของแต่ละคนต้องการแล้ว ความสูญเสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตที่ลดน้อยลง ความสามารถในการยืนหยัด และการแข่งขันในเชิงธุรกิจจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นโดยบริษัทฯ ได้นำวิธีการของไคเซ็นมาใช้ โดยให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ในวิธีของไคเซ็น (Kaizen)ซึ่งจะประกอบด้วย กิจกรรม 5 ส กิจกรรมระบบข้อเสนอแนะ ซึ่งในการนำวิธีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องหรือที่เรียกว่าไคเซ็นมาใช้ในบริษัทฯ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคนในบริษัท นับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับล่างได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงวิธีการทำงานและกระบวนการทำงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และเพื่อให้การทำไคเซ็นนั้นประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังนั้นการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) ของพนักงานฝ่ายการผลิต บริษัททีซีแอล ทอมสัน อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัดจึงเป็นสิ่งที่ผู้ทำวิจัยได้ให้ความสนใจในการทำวิจัยครั้งนี้ เพื่อที่จะได้ทราบถึงระดับการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางในการชี้แนะให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
วัตถุประสงค์
1. ศึกษาระดับการมีส่วนร่วมและปัจจัยต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของพนักงานฝ่ายการผลิต
2. เปรียบเทียบความแตกต่างการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของพนักงานฝ่ายการผลิตจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และปัจจัยด้านความรู้เกี่ยวกับไคเซ็น
3. ศึกษาความสัมพันธ์การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของพนักงานฝ่ายการผลิตกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ปัจจัยด้านการติดต่อสื่อสารและปัจจัยด้านการรับรู้นโยบายบริษัทในการทำไคเซ็น
เครื่องมือวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการ
ศึกษาโดยแบบสอบถาม แบ่งออกเป็น 9 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 แบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยด้านส่วนบุคคล เป็นคำถามให้เลือกคำตอบ จำนวน 7 ข้อ
ตอนที่ 2 แบบสอบถามวัดความรู้เกี่ยวกับไคเซ็น ประกอบด้วยกิจกรรม 5 ส และกิจกรรมระบบข้อเสนอแนะ จำนวน 16 ข้อ เป็นคำถามที่ให้เลือกตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่
ตอนที่ 3 แบบสอบถามวัดทัศนคติของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) จำนวน 16 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบLikert Scale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ ประกอบด้วย คำถามเชิงบวก และคำถามเชิงลบ
ตอนที่ 4 แบบสอบถามวัดแรงจูงใจของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) จำนวน 10 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบLikert Scale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ ประกอบด้วยคำถามเชิงบวก
ตอนที่ 5 แบบสอบถามวัดขวัญและกำลังใจของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) จำนวน 10 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบLikert Scale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ ประกอบด้วยคำถามเชิงบวก และคำถามเชิงลบ
ตอนที่ 6 แบบสอบถามวัดด้านการติดต่อสื่อสารต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง(ไคเซ็น) จำนวน 5 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบ LikertScale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ ประกอบด้วยคำถามเชิงบวก
ตอนที่ 7 แบบสอบถามวัดการรับรู้นโยบายบริษัทของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) จำนวน 5 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบ Likert Scale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับประกอบด้วย คำถามเชิงบวก
ตอนที่ 8 แบบสอบถามวัดการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) จำนวน 6 ข้อแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การมีส่วนร่วมในกิจกรรม5 ส จำนวน 5 ข้อ และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมระบบข้อเสนอแนะ จำนวน 5 ข้อ ใช้มาตราวัดแบบ LikertScale มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ ประกอบด้วยคำถามเชิงบวก
ตอนที่ 9 แบบสอบถามเกี่ยวกับ ปัญหาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับระบบไคเซ็น เป็นคำถามแบบปลายเปิด (Open-end Questions) จำนวน 2 ข้อ
การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือวิจัย
แบบสอบถามก่อนนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลจริง ผู้วิจัยได้นำมาทดสอบหาค่าความเชื่อมั่น
(Reliability) ของแบบสอบถาม โดยนำมาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ชุด เพื่อนำมาหาค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดด้วยการหาสัมประสิทธิ์อัลฟ่า Cronbach Alpha Coefficient โดยได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัด อยู่ระหว่าง 0.71-0.87
การวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับในการวิจัยครั้งนี้โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการทดสอบสถิติ ได้แก่
การวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณา(Descriptive Statistics) โดยใช้ตารางแจกแจงความถี่ แสดงผลเป็นค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่ออธิบายถึงปัจจัยด้านส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนและการฝึกอบรมเกี่ยวกับไคเซ็นการวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงอนุมาน (InferentialStatistics) เพื่อใช้ทดสอบสมมติฐาน สำหรับวิเคราะห์ตัวแปรกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม โดยใช้สถิติt-test และการวิเคราะห์ตัวแปรระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่า 2 กลุ่ม โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว One-way ANOVA (One way Analysisof Variance) และการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร
วิธีการหรือขั้นตอนการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ทำการวิจัยครั้งนี้มาจากการสุ่มตัวอย่างของพนักงานระดับปฏิบัติการของฝ่ายการผลิต บริษัท ทีซีแอล ทอมสัน อิเล็กทรอนิกส์(ประเทศไทย) จำกัด โดยมีพนักงานระดับปฏิบัติการจำนวน 814 คน (ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์: ตุลาคม 2547)  ซึ่งมีขั้นตอนในการสุ่มตัวอย่างและวิธีการคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นตัวแทนประชากรจากสูตร Taro Yamane [6] ขนาดของกลุ่มตัวอย่างสำหรับการวิจัยครั้งนี้จำนวน 268 คนและทำการสำรองกลุ่มตัวอย่างอีก 5% ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 281 คน โดยผู้วิจัยได้ทำการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Sampling) โดยมีสายการผลิตเป็นตัวแปรการแบ่งชั้นภูมิคือพนักงานระดับปฏิบัติการสายการผลิตประกอบโทรทัศน์ (Final Line) และสายการผลิตแผ่นวงจรสำเร็จรูป (Chassis Line) เนื่องจากมีจำนวนพนักงาน ระดับปฏิบัติการมากที่สุด จากนั้นนำกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาทำการกำหนดจำนวนตัวอย่างแบบโควตา(Quota Sampling) จะได้จำนวนตัวอย่างสายการ ผลิตละเท่าๆ กัน จำนวน 140 คนต่อสายการผลิตโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง ตามจำนวนตัวอย่างเท่ากับ 281 คน เพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มตัวอย่างสำหรับการวิจัยในครั้งนี้
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง จำนวน281 คน พบว่า พนักงานที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 249 คน และเป็นเพศชาย จำนวน 32 คน และพนักงานมีอายุ 28-37 ปี สถานภาพสมรส/อยู่ด้วยกัน มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ประสบการณ์ทำงาน 6-11 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,000-5,999 บาท และมีจำนวนครั้งการฝึกอบรมเกี่ยวกับไคเซ็น 1-2 ครั้ง
2. การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) ของพนักงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย2.82 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.60) ความรู้เกี่ยวกับไคเซ็น ประกอบด้วย กิจกรรม 5 ส และกิจกรรมระบบข้อเสนอแนะ พบว่า พนักงานมีระดับความรู้เกี่ยวกับไคเซ็นอยู่ในระดับสูง จำนวน 257 คน (ร้อยละ 91.50)และมีความรู้เกี่ยวกับไคเซ็นอยู่ในระดับปานกลางจำนวน 24 คน (ร้อยละ 8.50) ตามลำดับ ทัศนคติของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) อยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย 3.52 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.51) แรงจูงใจของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น)อยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย 3.74 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน0.72) ขวัญและกำลังใจของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) อยู่ในระดับดี(ค่าเฉลี่ย 3.44 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.53)การติดต่อสื่อสารต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย2.59 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.71) การรับรู้นโยบายบริษัทของพนักงานต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) อยู่ในระดับดี (ค่าเฉลี่ย 3.65 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.50)
3. ผลการทดสอบสมมติฐาน 5 ข้อ ในระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01
ข้อจำกัดของงานวิจัยหรือข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ประโยชน์
1.1 ควรเพิ่มประสิทธิภาพในช่องทางการสื่อสารกับพนักงานให้มากขึ้น นอกเหนือจากช่องทางที่ใช้อยู่ เช่น บริการเสียงตามสายเพื่อตอกย้ำถึงการมีกิจกรรมร่วมในแต่ละครั้ง เพราะเป็นวิธีการสื่อสารที่ใกล้ชิดและสะดวกรวดเร็ว ตลอดจนผู้บังคับบัญชาจะต้องแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้พนักงานได้รับทราบทุกครั้ง เพื่อให้พนักงานระดับปฏิบัติการนั้นสามารถที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารในการเข้าร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น
1.2 ควรส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นและเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ประเด็นของแต่ละกิจกรรมเพื่อให้การมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนั้นสามารถประสบผลสำเร็จได้
1.3 ทำการกระตุ้นและโน้มน้าวใจให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในทุกๆกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมสูงสุด และความรู้เกี่ยวกับไคเซ็นควรที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับพนักงานเพิ่มเติม เพราะว่าพนักงานบางส่วนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงหัวข้อหรือประเด็นที่เกี่ยวกับไคเซ็นว่าเกี่ยวข้องกับอะไรบ้างแต่เมื่อพูดถึงในรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมของไคเซ็นพนักงานจะมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ มากกว่าการที่จะมองเป็นภาพรวมของไคเซ็นซึ่งเป็นความไม่รู้และความสับสนของพนักงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นทางแผนก WCM ควรที่จะจัดอบรมเพิ่มความรู้ในส่วนนี้ให้กับพนักงานเพิ่มมากขึ้น และเมื่อพนักงานมีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจะส่งผลให้พนักงานเกิดทัศนคติและแรงจูงใจที่ดีต่อกิจกรรม ตลอดจนย่อมที่จะสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ กิจกรรมมากขึ้น
2. ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (ไคเซ็น) เช่น ความขัดแย้งภายในองค์กร ภาวะผู้นำเป็นต้น
2.2 ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของพนักงาน และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ของบริษัทอื่นๆ ที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจคล้ายกันว่าเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

2.3 ควรมีการศึกษาในเครื่องมือการบริหารคุณภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น TPM,TQC, TQM เพิ่มขึ้น

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ24 มกราคม 2565 เวลา 21:36

    The King Casino | Jancasino
    The King Casino is an exciting gaming, 코인카지노 dining ボンズ カジノ and entertainment destination conveniently located right on the Las 더킹카지노 Vegas strip. Jancasino is the Official Casino

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การกำจัดความสูญเปล่า (7 Waste)

การประยุกต์ใช้ไคเซ็นกรณีศึกษาโรงงานผลิตแผ่นเจียรและแผ่นตัด